หากเราขับรถไปยังสถานที่ต่างๆ ตามถนนหนทาง ป้ายจราจร และป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารที่มีการใช้งานอยู่โดยทั่วไป ที่ทำให้ผู้ขับขี่สัญจรใช้รถ ใช้ถนน มองเห็นแล้วสามารถรับทราบ และเข้าใจในความหมายทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาอ่านข้อความยาวๆ เช่น ป้ายบอกทางให้เลี้ยวในมุมต่างๆ ป้ายห้ามจอด ฯลฯ และเพื่อการ ใช้งานที่ถูกต้อง ปลอดภัย จึงขอนำทุกคน ไปรู้จักกับป้ายจราจรต่างๆ ให้มากขึ้น พร้อมกับความสำคัญ และเครื่องหมายของป้ายจราจรต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวในการขับขี่ได้อย่างถูกต้อง
ความหมายของป้ายจราจร
ป้ายจราจร และเครื่องหมายจราจร หมายถึง แผ่นป้ายที่ใช้แสดงสัญลักษณ์ทางจราจร เพื่อช่วยควบคุมพฤติกรรม, เตือนให้ระวัง หรือให้คำแนะนำในการเดินทางกับผู้ขับขี่
ประโยชน์ของป้ายจราจร
ป้ายจราจรนั้น สามารถช่วยทำให้ผู้ใช้รถ ใช้ถนน มีระเบียบวินัยเพิ่มมากขึ้นได้ ทั้งนี้เมื่อผู้ใช้รถ ใช้ถนน ปฏิบัติตัวตามป้ายจราจรต่างๆ ก็จะทำให้ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุนั้นลดลง และความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ประโยชน์ของป้ายจราจรยังมีไว้เพื่อเป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ใช้รถ ใช้ถนนระมัดระวังก่อนถึงทางอันตรายด้านหน้า ซึ่งมีประโยชน์เป็นอย่างมาก สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับเส้นทางนั้นๆ
นอกจากนี้ ป้ายจราจรก็ยังเป็นการช่วยทำให้ผู้คนที่ใช้รถ ใช้ถนน ไม่ต้องเสียค่าปรับ เนื่องจากการทำผิดกฎหมายจราจร เพราะหากทำตามที่ป้ายจราจรได้กำหนดไว้ เช่น ป้ายจราจรจำกัดความเร็วในพื้นที่นั้นๆ เมื่อผู้คนพบเห็น และปฏิบัติตัวตามป้ายจราจรดังกล่าว นอกจากจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยแล้ว ยังไม่ต้องเสียค่าปรับ เนื่องจากทำผิดกฎหมายจราจรอีกด้วย
กลับสู่สารบัญป้ายจราจรมีกี่ประเภท
ป้ายจราจรมีหลายชนิด จำแนกกลุ่มตามหน้าที่ ที่แตกต่างกันออกไป เพื่อที่จะได้สังเกตุได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ขับขี่ และผู้ใช้ทางปฏิบัติตามกฎจราจรได้อย่างถูกต้อง สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทที่สำคัญคือ
1. ป้ายจราจร ประเภทป้ายบังคับ (Regulatory Signs)
ป้ายประเภทนี้ มีไว้เพื่อควบคุมให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฏจราจรอย่างเคร่งครัด เมื่อพบเห็น แล้วจะต้องปฏิบัติตาม หรืองดการกระทำ ตามเครื่องหมาย และสัญลักษณ์ที่แสดงอยู่บนป้าย หากไม่ปฏิบัติตาม ก็อาจทำให้มีโทษฝ่าฝืนทางกฎหมาย หรือรวมไปถึงทำให้เกิดอันตราย ต่อผู้ใช้รถใช้ถนนได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ป้ายประเภทป้ายบังคับ ยังแบ่งได้อีก 2 ประเภท ตามข้อความ หรือสัญลักษณ์ที่ปรากฎบนป้าย
- ป้ายบังคับที่มีข้อความกำกับ เช่น ป้ายหยุด, ป้ายหยุดตรวจ, ป้ายให้ทาง และอาจมีสัญลักษณ์อยู่บนป้ายด้วย เช่น ป้ายจำกัดความสูง, ป้ายจำกัดความกว้าง, ป้ายจำกัดความยาว เป็นต้น
- ป้ายบังคับที่มีสัญลักษณ์กำกับ เช่น ป้ายห้ามจอดรถ ที่แสดงเส้นคาดทแยงบนป้าย, ป้ายห้ามหยุดรถ ที่แสดงเครื่องหมายกากบาท, หรือป้ายห้ามรถชนิดต่างๆ ก็จะใช้รูปภาพของรถ หรือยานพาหนะที่มีแถบสีแดงคาดทับรูปภาพ เป็นต้น
แต่ถ้าหากเราแบ่งป้ายจราจรแบบป้ายบังคับ ตามวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้ ก็จะแบ่งได้อีกเป็น 4 ประเภท คือ
- ประเภทห้าม หรือจำกัดสิทธิ์
สำหรับป้ายห้ามชนิดนี้ เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ป้ายห้ามเปลี่ยนช่องเดินรถ, ป้ายห้ามกลับรถ ป้ายหยุดตรวจ, ป้ายจำกัดความเร็ว ซึ่งลักษณะของป้าย จะมีพื้นป้ายสีน้ำเงิน และตัดเส้นขอบป้าย และเส้นขีดกลาง หรือเส้นกากบาทด้วยสีแดง
- ประเภท กำหนดสิทธิ์
สำหรับป้ายชนิดนี้ จะเป็นป้ายที่กำหนดให้ผู้ที่ขับยานพาหนะ ให้ทางรถด้วยกัน หรือคนเดินเท้าให้ผ่านไปก่อน เช่น ป้ายให้รถสวนทางมาก่อน, ป้ายหยุด ซึ่งลักษณะของป้าย จะมีพื้นป้ายสีขาว เส้นขอบป้ายสีแดง ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์บนป้ายเป็นสีดำ ยกเว้น ป้ายหยุด ที่จะมีพื้นป้ายเป็นสีแดง ส่วนของเส้นขอบ และตัวอักษรบนป้ายจะเป็นสีขาว
- ประเภท คำสั่ง
สำหรับป้ายชนิดนี้ ส่วนใหญ่เป็นป้ายคำสั่ง ที่ผู้ขับยานพาหนะ จะต้องปฏิบัติตาม เช่น ป้ายให้เลี้ยวซ้าย หรือเลี้ยวขวา, ป้ายรถเดินทางเดียว, ป้ายให้รถเดินทางเดียว, ป้ายให้เลี้ยวซ้าย/ขวา, ป้ายให้ชิดซ้าย/ขวา, ป้ายวงเวียน, ป้ายช่องเดินรถชนิดต่างๆ รวมถึงป้ายเฉพาะคนเดิน เป็นต้น ซึ่งสักษณะของป้าย จะมีพื้นป้ายเป็นสีน้ำเงิน และมีเส้นกรอบแบบไม่ติดขอบป้ายเป็นสีขาว ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์บนป้ายก็จะมีสีขาวด้วยเช่นกัน
- ประเภทแบบอื่นๆ
สำหรับป้ายชนิดนี้ จะเป็นป้ายที่ซึ่งมีความแตกต่าง จากป้ายชนิดต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เช่น ป้ายสิ้นสุดเขตบังคับ ลักษณะของป้าย จะมีพื้นป้ายสีขาว และเส้นขีดกลางเป็นแนวทแยง ซึ่งใช้ในการบอกการสิ้นสุดระยะบังคับ ของป้ายที่ใช้ก่อนหน้านี้
2. ป้ายจราจร ประเภทป้ายเตือน (Warning Signs)
จุดประสงค์ของป้ายชนิดนี้ มีไว้เพื่อ แจ้งเตือนแก่ผู้ที่ใช้รถ ใช้ถนน ให้ผู้ขับขี่มีความระมัดระวัง ในการใช้รถใช้ถนนกันมากขึ้น และเป็นการแจ้งเตือนถึงสิ่งที่จะเจอข้างหน้าอีกด้วย พบได้ทั่วไปตามบริเวณที่มีการสัญจร ลักษณะของป้าย จะใช้สีเหลืองเป็นสีพื้น เส้นขอบป้ายจะใช้เป็นสีดำ รวมไปถึงเครื่องหมายสัญลักษณ์ ตัวเลข และตัวอักษรบนป้าย ตัวอย่างป้ายจราจรประเภทป้ายเตือน ได้แก่ ป้ายทางข้ามทางรถไฟ, ป้ายเตือนทางโค้ง, ป้ายเตือนทางแยก, ทางคดเคี้ยว, วงเวียน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีป้ายจราจรในเขตพื้นที่การก่อสร้าง ที่ยังมีการใช้รถใช้ถนนในการสัญจรอีกด้วย ลักษณะของป้ายชนิดนี้ จะเป็นป้ายที่ใช้สีพื้นเป็นสีส้ม และมีเส้นขอบป้าย ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ต่างๆ รวมถึงตัวเลข บนป้ายเป็นสีดำ ตัวอย่างเช่น ป้ายงานก่อสร้างสะพานข้างหน้า, ป้ายจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดการก่อสร้าง, ป้ายทางเลี่ยงจุดก่อสร้าง, ป้ายลูกศรต่างๆ เป็นต้น
3. ป้ายจราจร ประเภทป้ายแนะนำ (Guide Signs)
จุดประสงค์ของป้ายชนิดนี้มีไว้เพื่อ อำนวยความสะดวก ในเรื่องของการเดินทางไปยังที่ต่างๆ และง่ายต่อการสังเกตุ โดยจะแบ่งแยกย่อยได้อีก 2 ประเภทคือ
- ป้ายแนะนำบนทางหลวงพิเศษ
สำหรับป้ายชนิดนี้ มีไว้เพืออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่ใช้ทางพิเศษ เราจะพบป้ายต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ป้ายเริ่มทางด่วน/ทางหลวงพิเศษ, ทางหลวงเอเชีย, ป้ายกิโลเมตร ป้ายหมายเลขทางหลวงแผ่นดิน/ ทางหลวงพิเศษ/ ทางหลวงเอเชีย เป็นต้น
- ป้ายแนะนำทั่วไป
สำหรับป้ายชนิดนี้ จะพบได้ทั่วไปขณะเดินทาง ไปตามสถานที่ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ป้ายแนะนำเส้นทาง, ป้ายแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว, ป้ายแสดงโรงพยาบาล, ป้ายแสดงจุดกลับรถ, ป้ายแนะนำชื่อทางแยก เป็นต้น
สรุป
ในการใช้รถใช้ถนนนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือความปลอดภัย ของผู้ที่ใช้ทางทุกๆ คน และสิ่งที่เป็นตัวช่วย ให้การใช้รถใช้ถนนได้อย่างปลอดภัยนั้นคือ ป้ายจราจร ป้ายจราจรนั้น นอกจากจะเป็นเครื่องหมายแห่งกฎระเบียบทางจราจรแล้ว ยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงสภาพของเส้นทางที่จะไป การใช้ความเร็ว และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
หากขาดความระมัดระวังในการขับยานพาหนะ ป้ายจราจรจะบอกความเป็นไปของถนนข้างหน้า เช่น ทางโค้ง ลงเขา ขึ้นเขา ทางแยก ป้ายหยุด หรือลดความเร็วในเขตชุมชน หรือสี่แยก ทางลื่น โค้งอันตราย ใช้เกียร์ต่ำ หรือลดความเร็วในเขตโรงเรียน เพราะฉนั้น ป้ายจราจรเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เรา ใช้รถ ใช้ถนน ได้อย่างปลอดภัยตลอดเส้นทาง
สุดท้ายนี้ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้รถ ใช้ถนนเป็นประจำก็ ไม่ควรที่จะละเลยในการศึกษาความหมายของป้ายจราจรต่างๆ เพื่อให้จะได้ปฏิบัติตามป้ายจราจรต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งประโยชน์ของป้ายจราจรนั้นยังมีมากมาย สามารถช่วยทำให้ผู้ใช้รถ ใช้ถนนมีความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการไม่ละเลยกฎหมายจราจรอีกด้วย ดังนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ป้ายจราจรนั้น มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก สำหรับผู้ที่ใช้รถ ใช้ถนน